เมื่อกล่าวคำว่า "ปอเนาะ" คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามบางคน อาจมองปอเนาะไปทางลบ เข้าใจว่าเป็นสถานที่ซ่องสุม ฝึกฝนผู้ก่อการร้าย ขอเรียนให้ทราบว่าปอเนาะไม่ใช่สถานที่ซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย แต่เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับวิการศาสนาของชาวมุสลิมที่จะส่งบุตรหลานมาหาความรู้เพื่อเติบใหญ่ในวันหน้าจะได้เป็นคนดีของสังคม
"คำว่า "ปอเนาะ" มาจากภาษาอาหรับว่า PONDOK แปลว่า กระท่อม ที่พัก ซึ่งความหมายในปัจจุบันคือ สำนักศึกษาเล่าเรียนวิชาการศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายถึงทั้งที่พักและที่เรียน "ปอเนาะ" ถือเป็นการศึกษาเพื่อชุมชนแบบพึ่งตนเอง เกิดที่ปัตตานีเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว ปอเนาะที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางราชการ โดยดำเนินการสอนศาสนาเพียงอย่างเดียว และถือว่าเป็นปอเนาะเก่าแก่ของชายแดนใต้ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 20 กว่าโรงเท่านั้น เช่นปอเนาะดาลอ ปอเนาะตุยง ปอเนาะบรือมิง ปอเนาะสะกำ เป็นต้น หลักสูตรดั่งเดิมประกอบด้วย วิชาภาษามาลายูและภาษาอาหรับ วิชาเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม วิชาฟิกฮ์ เป็นนิติศาสตร์อิสลาม เรียนกว้างๆ มีการเจาะลึกในระดับมหาวิทยาลัย และวิชาย่อยอื่นๆอีกมากที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมุสลิมตั้งแต่เช้าถึงเย็นเป็นจริยวัตรของมุสลิม วิชาตะเซาอุฟ เป็นหลักการพัฒนาจิตใจ"
(เฟสบุคส์กลุ่มโต๊ะปาเก)
ผู้ที่มีหน้าที่สอนหนังสือคือโต๊ะครู หรือที่เรียกว่า "บาบอ" บาบอคือผู้ที่มีความรู้ศาสนาสูงสุด คือผู้เสียสละตน ยอมเหนื่อย ยอมเสียเวลาเพื่อที่จะมอบความรู้แก่ลูกศิษย์โดยไม่หวังค่าตอบแทนใดๆ ไม่มีค่าจ้างจากภาครัฐเหมือนอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่สอนด้วยความเต็มใจ ด้วยความศรัทธา
"ผู้ที่สามารถแบ่งเบาภาระของโต๊ะครูได้เป็นอย่างดี คือ "ปาลอตอลาอะฮ์" ปาลอตอลาอะฮ์ เป็นภาษามาลายู แปลว่า หัวหน้าผู้ติวหนังสือ เมื่อโต๊ะครูได้สอนตำราเล่มหนึ่งจบไปแล้ว หากศิษย์คนใดมีความกระจ่างแจ้งในตำราเล่มนั่น ก็ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องสอนตำราเล่มนั้นแด่รุ่นน้องต่อไป ก็หมายความว่า โต๊ะครูสามารถสอนตำราในระดับที่สูงขึ้นไปอีกได้ ส่วนตำราระดับพื้นฐานก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของปาลอตอลาอะฮ์ นี้แหละคือความรู้ที่ถูกถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนานและเป็นบารอกัต นี้แหละคือที่มาของคำว่า "พี่สอนน้อง"และนีคือสาเหตุแห่งความสำเร็จของอุลามะอฺในอดีต"
(เฟสบุคส์กลุ่มโต๊ะปาเก)
ปอเนาะเป็นสถานศึกษาที่มีระบบการเรียนแบบไม่เป็นทางการ แต่มีระบบที่เป็นแบบฉบับของบาบอ มีเวลาเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับผู้ที่ขยันใฝ่รู้ โดยเลือกเรียนกับโต๊ะครูตามเวลาที่เคยสอนประจำ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงหลังละหมาด 5 เวลา และเลือกเรียนพิเศษ กับบรรดาปาลอตอลาอะฮ์นอกเหนือเวลาที่โต๊ะครูสอน จะเป็นช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืนขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้สอนและผู้เรียน การเรียนจะเป็นการเรียนรวม ไม่แบ่งชั้น ไม่แยกวัย ใครตั้งใจเรียนกว่าก็จะได้ความรู้เยอะกว่า นอกจากการเรียนในแต่ละวันแล้ว ปอเนาะยังได้เน้นและสอนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ชีวิตประจำวันในแบบฉบับของอิสลาม การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การรักษาความสะอาดของร่างกายและที่อยู่อาศัย การอยู่ในสังคมให้รู้รักสามัคคีช่วยเหลือกัน การใช้ชีวิตกับคู่ครอง ครอบครัว เป็นต้น
ดังนั้นแล้ว ปอเนาะก็คือรากเหง้าการศึกศาสนาของชาวอิสลามตั้งแต่อดีตจนกระทั้งปัจจุบัน แม้ปัจจุบันโลกก้าวไกลไปมาก มีโรงเรียนทั้งสอนศาสนาและสามัญเกิดขึ้นมามากมาย มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการสอน แต่ก็ยังปรากฎมีให้เห็นว่าผู้ปกครองบางคนเลือกที่จะส่งบุตรหลาน ให้บาบอดูแล มอบความรู้และชี้นำทางที่ดีถูกต้องในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมในวันข้างหน้ามากกว่าจะเสียเงินมากมายเพื่อส่งลูกเข้าสถานประกอบธุรกิจ เพราะบางโรงเรียนนั้น เดิมเคยเป็นปอเนาะสอนศาสนาเพียงอย่างเดียวแล้วมาพัฒนาตอนหลังเพิ่มหลักสูตรสามัญเข้าไปด้วย จนบางโรงเรียนกลายเป็นธุรกิจของเจ้าของโรงเรียนมากกว่าจะเป็นสถานศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น