![]() |
ลักษณะบ่อหมักก่อนคลุมผ้าใบ |
30 พฤศจิกายน 2556 เป็นวันแรกที่ผมก้าวเท้าเข้ามาหาความท้าทายในบริษัทปาล์มพัฒนา ไบโอแก๊ส ตอนแรกผมเข้าใจว่าผมเข้ามารับตำแหน่งวิศวกรธรรมดาๆคนหนึ่งดูแลควบคุมระบบไฟฟ้าในโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม และคิดว่าลักษณะงานคงจะเป็นการดูแลควบคุมระบบไฟฟ้าทั้งโรงงาน อาจจะมีการซ่อมไฟตามจุดต่างๆกรณีที่เกิดปัญหา หรือการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ขัดข้อง เช่น ปั้มน้ำเป็นต้น ซึ่งคิดว่าพอที่จะรับภาระ ความกดดันในจุดนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องเป็นมากกว่านั่น ไม่ใช่เป็นวิศวกรโรงงาน แต่เป็นวิศวกรโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส และเป็นมากกว่าวิศวกรที่ต้องดูแลไฟฟ้าแรงต่ำ 230-400 โวลต์ และไฟฟ้าแรงสูง 33 กิโลโวลต์(33,000 โวลต์) นั้นคือ ต้องเป็นคนโอเปอเรต(Operate) ด้วย โอเปอเรต คือ อะไร? แล้วต้องทำอย่างไรบ้าง?ก็ยังไม่รู้เลย...พรุ่งนี้นี้เรามารู้จักคำว่า "โอเปอเรต" กัน
โอเปอร์เรต (Operate) คำว่า Operate ในภาษาอังกฤษแปลว่า ปฎิบัติ หรือปฎิบัติงาน หรือ ปฎิบัติการ หรือก่อให้เกิดผล นั้นคือความหมายของคำทางหลักภาษา แต่ความหมายทางตำแหน่งหน้าที่การงาน คือ ผู้ที่ปฎิบัติและควบคุมงานทั้งระบบ ถ้าจะเปรียบเทียบเพื่อให้มองเห็นภาพ หัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายปฎิบัติ คือ โอเปอร์เรต การโอเปอร์เรตโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส คือการนำน้ำเสียจากโรงงานมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพ จากน้ำเสียกว่าจะได้ออกมาเป็นก๊าซต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เช่น การลดอุณหภูมิน้ำเสียจากโรงงาน การควบคุมความเป็นกรด-ด่าง (pH) อุณหภูมิภายในบ่อ การเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย การทำความสะอาดก๊าซ การคัดแยกก๊าซเพื่อให้ได้ก๊าซมีเทน การลดความชื้นของก๊าซ การอัดความดันก๊าซ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดต้องปฎิบัติงานอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อไม่ให้ระบบล่ม ถ้าระบบล่มขึ้นมาก็ต้องนับศูนย์กันใหม่ กว่าระบบจะเสถียรและได้ก๊าซขึ้นมาใหม่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน ในเมื่อไม่มีก๊าซป้อนเข้าสู่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็ต้องหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า บริษัทก็จะขาดรายได้ ถ้าขาดรายได้เป็นเดือนก็จะขาดทุน อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นลำดับแรก การทำงานกับแก๊สมีความเสี่ยงมาก พร้อมที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อถ้าอยู่ในความประมาท หรือถ้าไม่ประมาทก็อาจเกิดได้เช่นกันเพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่นฟ้าผ่า อุปกรณ์ชำรุด เป็นต้น อุบัติเหตุแต่ละครั้งอาจถึงขั้นรุนแรงถึงรุนแรงมาก เพราะมีแก๊สมหาศาลที่พร้อมจะระเบิด รัศมีการระเบิดอาจกินพื้นที่เป็นร้อยๆเมตร นอกจากเรื่องไบโอแก๊สแล้วยังมีเรื่องระบบไฟฟ้าที่จะต้องดูแล ทั้งระบบไฟฟ้าแรงสูง และไฟฟ้าแรงต่ำ โดยเฉพาะไฟฟ้าแรงสูงที่ต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมมาควบคุม วันไหนมีการฟอลต์(ลัดวงจร)เกิดขึ้น วันนั้นผู้ดูแลควบคุมหัวหมุนแทบตาย ทั้งเรื่องการหาสาเหตุการฟอลต์ ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น อันเดอร์/โอเวอร์โวลเตจ (Under/Over Voltage) อันเดอร์/โอเวอร์เคอร์เรนท์ (Under/Over Current) อันเดอร์/โอเวอร์ฟรีเควนซี่ (Under/Over Frequency) ไดเรกชันนอลโอเวอร์เคอร์เรนท์ (Directional Over Current) ทรีเฟสฟอลต์ (Three phase fault) ซิงเกิ้ลไลน์ ทู กราวนด์ ฟอลต์ (Single line to ground fault) เป็นต้น การประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อซิงค์เข้าระบบ ส่วนงานที่รับเพิ่มมาล่าสุด คือ ต้องดูแลคนงานต่างชาติ(พม่า กัมพูชา) ลำพังดูแลชีวิตตัวเองก็ไม่รอด ต้องมานั้งท่องชื่อ หัดพูด เพื่อจ่ายงานให้พวกเขาทำ
ความท้าทายมันอยู่ตรงที่ขอบเขตงานที่กว้างและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง จะแบกรับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆได้หรือไม่ จะผ่านไปได้ไหม จะไหวสักกี่เดือน ทุกอย่างมันก็อยู่กับตัวเราคนเดียวที่จะจัดการตัวเองอย่างไร งานยากงานหนักเป็นเครื่องมือวัดคุณภาพคน ต่อไปคงได้นำทฤษฎีโจโฉนำออกมาใช้แล้วล่ะ
.
.
.
เล่าถึงเรื่องส่วนตัวเยอะแล้ว บทความต่อไปจะเขียนเรื่อง โรงไฟฟ้าพลังงานไบโอแก๊ส เพื่อเป็นบทความต่อเนื่องจากบทความนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น