วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปอเนาะ ระบบการศึกษาของมุสลิม

เมื่อกล่าวคำว่า "ปอเนาะ" คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามบางคน อาจมองปอเนาะไปทางลบ เข้าใจว่าเป็นสถานที่ซ่องสุม ฝึกฝนผู้ก่อการร้าย ขอเรียนให้ทราบว่าปอเนาะไม่ใช่สถานที่ซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย แต่เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับวิการศาสนาของชาวมุสลิมที่จะส่งบุตรหลานมาหาความรู้เพื่อเติบใหญ่ในวันหน้าจะได้เป็นคนดีของสังคม
"คำว่า "ปอเนาะ" มาจากภาษาอาหรับว่า PONDOK แปลว่า กระท่อม ที่พัก ซึ่งความหมายในปัจจุบันคือ สำนักศึกษาเล่าเรียนวิชาการศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายถึงทั้งที่พักและที่เรียน "ปอเนาะ" ถือเป็นการศึกษาเพื่อชุมชนแบบพึ่งตนเอง เกิดที่ปัตตานีเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว ปอเนาะที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางราชการ โดยดำเนินการสอนศาสนาเพียงอย่างเดียว และถือว่าเป็นปอเนาะเก่าแก่ของชายแดนใต้ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 20 กว่าโรงเท่านั้น เช่นปอเนาะดาลอ ปอเนาะตุยง ปอเนาะบรือมิง ปอเนาะสะกำ เป็นต้น หลักสูตรดั่งเดิมประกอบด้วย วิชาภาษามาลายูและภาษาอาหรับ วิชาเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม วิชาฟิกฮ์ เป็นนิติศาสตร์อิสลาม เรียนกว้างๆ มีการเจาะลึกในระดับมหาวิทยาลัย และวิชาย่อยอื่นๆอีกมากที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมุสลิมตั้งแต่เช้าถึงเย็นเป็นจริยวัตรของมุสลิม วิชาตะเซาอุฟ เป็นหลักการพัฒนาจิตใจ"
(เฟสบุคส์กลุ่มโต๊ะปาเก)

      ผู้ที่มีหน้าที่สอนหนังสือคือโต๊ะครู หรือที่เรียกว่า "บาบอ" บาบอคือผู้ที่มีความรู้ศาสนาสูงสุด คือผู้เสียสละตน ยอมเหนื่อย ยอมเสียเวลาเพื่อที่จะมอบความรู้แก่ลูกศิษย์โดยไม่หวังค่าตอบแทนใดๆ ไม่มีค่าจ้างจากภาครัฐเหมือนอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่สอนด้วยความเต็มใจ ด้วยความศรัทธา
 

    "ผู้ที่สามารถแบ่งเบาภาระของโต๊ะครูได้เป็นอย่างดี คือ "ปาลอตอลาอะฮ์" ปาลอตอลาอะฮ์ เป็นภาษามาลายู แปลว่า หัวหน้าผู้ติวหนังสือ เมื่อโต๊ะครูได้สอนตำราเล่มหนึ่งจบไปแล้ว หากศิษย์คนใดมีความกระจ่างแจ้งในตำราเล่มนั่น ก็ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องสอนตำราเล่มนั้นแด่รุ่นน้องต่อไป ก็หมายความว่า โต๊ะครูสามารถสอนตำราในระดับที่สูงขึ้นไปอีกได้ ส่วนตำราระดับพื้นฐานก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของปาลอตอลาอะฮ์ นี้แหละคือความรู้ที่ถูกถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนานและเป็นบารอกัต นี้แหละคือที่มาของคำว่า "พี่สอนน้อง"และนีคือสาเหตุแห่งความสำเร็จของอุลามะอฺในอดีต"
(เฟสบุคส์กลุ่มโต๊ะปาเก)
ปอเนาะเป็นสถานศึกษาที่มีระบบการเรียนแบบไม่เป็นทางการ แต่มีระบบที่เป็นแบบฉบับของบาบอ  มีเวลาเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับผู้ที่ขยันใฝ่รู้ โดยเลือกเรียนกับโต๊ะครูตามเวลาที่เคยสอนประจำ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงหลังละหมาด 5 เวลา และเลือกเรียนพิเศษ กับบรรดาปาลอตอลาอะฮ์นอกเหนือเวลาที่โต๊ะครูสอน จะเป็นช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืนขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้สอนและผู้เรียน การเรียนจะเป็นการเรียนรวม ไม่แบ่งชั้น ไม่แยกวัย ใครตั้งใจเรียนกว่าก็จะได้ความรู้เยอะกว่า นอกจากการเรียนในแต่ละวันแล้ว ปอเนาะยังได้เน้นและสอนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ชีวิตประจำวันในแบบฉบับของอิสลาม การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การรักษาความสะอาดของร่างกายและที่อยู่อาศัย การอยู่ในสังคมให้รู้รักสามัคคีช่วยเหลือกัน การใช้ชีวิตกับคู่ครอง ครอบครัว เป็นต้น
   ดังนั้นแล้ว ปอเนาะก็คือรากเหง้าการศึกศาสนาของชาวอิสลามตั้งแต่อดีตจนกระทั้งปัจจุบัน แม้ปัจจุบันโลกก้าวไกลไปมาก มีโรงเรียนทั้งสอนศาสนาและสามัญเกิดขึ้นมามากมาย มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการสอน แต่ก็ยังปรากฎมีให้เห็นว่าผู้ปกครองบางคนเลือกที่จะส่งบุตรหลาน ให้บาบอดูแล มอบความรู้และชี้นำทางที่ดีถูกต้องในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมในวันข้างหน้ามากกว่าจะเสียเงินมากมายเพื่อส่งลูกเข้าสถานประกอบธุรกิจ เพราะบางโรงเรียนนั้น เดิมเคยเป็นปอเนาะสอนศาสนาเพียงอย่างเดียวแล้วมาพัฒนาตอนหลังเพิ่มหลักสูตรสามัญเข้าไปด้วย จนบางโรงเรียนกลายเป็นธุรกิจของเจ้าของโรงเรียนมากกว่าจะเป็นสถานศึกษา

วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

โรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส


           ประเทศไทยจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้ว่ามีโรงงานการผลิตทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อมีโรงงานเกิดขึ้นประเทศไทยย่อมมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความสามารถของปริมาณการผลิตยังไม่สามารถเพิ่มอัตราการผลิตได้ จึงมีแนวโน้มสูงว่าประเทศไทยอาจจะเกิดวิกฤติการณ์ทางพลังงานไฟฟ้าได้ในอนาคต เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 เวลา 14.00 ประเทศไทยมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดที่ 26,598.14 เมกะวัตต์ และมีการประมาณการณ์ช่วงกลางเดือนเมษายน 2557 จะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดที่ 27,250 เมกะวัตต์
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.egat.co.th
              ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 1,200 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น และเนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงการผลิตในอัตราที่สูง ประมาณร้อยละ 70 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศ รองลงมาคือลิกไนท์และถ่านหินที่ร้อยละ 20 ที่เหลือเป็นพลังงานหมุนเวียนและซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการเพิ่มเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้า ประเทศไทยต้องลดการซื้อเชื้อเพลิงจากต่างประเทศพร้อมทั้งลดการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและเพิ่มเชื้อเพลิงชนิดอื่นในการผลิต
              ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี พ.ศ.2551-2565 โดยกระทรวงพลังงาน ให้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศ ในปี 2565 โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 120 เมกะวัตต์ 
              ก๊าซชีวภาพ (Biogas หรือ Digester gas) หรือ ไบโอก๊าซ คือก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ได้จากการย่อยสลายสารอินทรีย์ภายใต้สภาวะที่ปราศจากออกซิเจน โดยทั่วไปจะหมายถึง ก๊าซมีเทน ที่เกิดจากการหมัก(Fermentation) ของอินทรีย์วัตถุ ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานสะอาด เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ ก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจะผ่านกระบวนการบำบัด หรือทำให้ก๊าซมีความสะอาดปลอดภัยมากขึ้น โดยการกำจัดความชื้นและก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟล์ออกไป

ก๊าซชีวภาพประกอบด้วย 
         - ก๊าซมีเทน 75% มีคุณสมบัติจุดไฟได้ดี 
         - ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 20% เป็นก๊าซเฉื่อย ไม่ติดไฟ
         - ก๊าซอื่นๆ 5% เช่น ก๊าซไฮโดรเจน ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ก๊าซไนโตรเจน

        ขั้นตอนและปฏิกิริยาการเกิดก๊าซชีวภาพ
ปฏิกิริยาชีวเคมีของกระบวนการย่อยสารอินทรีย์โดยแบคทีเรียในสภาวะไร้ออกซิเจน แบ่งออกได้ 4 ขั้นตอน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์ต่างชนิดกัน ดังนี้
         ขั้นที่ 1 การสลายสารโมเลกุลใหญ่ (Hydrolysis)
         สารอินทรีย์ต่างๆที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรท และไขมัน จะถูกย่อยสลายโดยเอนไซม์ ทำให้แตกตัวมีขนาดเล็กลงอยู่ในรูปที่ละหลายน้ำได้ 
          ขั้นที่ 2 การหมัก (Fermentation)
          จุลินทรีย์จะเปลี่ยนสารอินทรีย์ละลายน้ำกลายเป็นกรดอินทรีย์ระเหย (Volatile fatty acid)
          ขั้นที่ 3 การผลิตกรดอินทรีย์ (Acidogenesis)
          แบคทีเรียที่สร้างกรด (acid forming bacteria) จะย่อยสลายกรดอินทรีย์กลายเป็นกรดอะเซติก  (Acetic Acid) หรือที่รู้จักกันคือ กรดน้ำส้ม ก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
          ขั้นที่ 4 การผลิตก๊าซมีเทน (Methanogenesis)
          กรดอินทรีย์ระเหยง่ายจะถูกย่อยสลายเป็นก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ อาจมีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไนโตรเจน ไฮโดรเจนและไอน้ำผสมอยู่ด้วย ซึ่งรวมกันเรียกว่า "ก๊าซชีวภาพ"
          หลังจากที่ได้รู้ขั้นตอนและกระบวนการการเกิดก๊าซชีวภาพแล้ว
ต่อไปจะนำเสนอกระบวนการทั้งหมดของโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมและภาพประกอบที่สมจริง ผู้เขียนขออนุญาตใช้บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้เป็นกรณีศึกษา ซึ่งเป็นบริษัทที่ผู้เขียนกำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นโอเปอเรอเตอร์อยู่
           โรงไฟฟ้าไบโอแก๊สเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยก๊าซชีวภาพได้มาจากการหมักน้ำเสีย
ภาพรวมของโครงการทั้งหมด
              เริ่มต้นจากน้ำเสียที่ได้จากการบีบปาล์มเพื่อสกัดเอาน้ำมัน น้ำเสียที่ได้จะมีอุณหภูมิร้อน ประมาณ 60 - 70 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะเอาน้ำเสียไปหมักจะต้องทำการลดอุณหภูมิของน้ำเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในบ่อหมัร้อนเกินจนไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้และเพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียในบ่อหมักตาย การลดอุณหภูมิของบ่อหมักใช้หลักการง่ายๆ คือ ปล่อยน้ำเสียลงในบ่อที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้พื้นผิวน้ำสัมผัสกับอากาศภายนอก เมื่อลดอุณหภูมิได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็ส่งน้ำเสียเข้าบ่อหมักโดยผ่านอาคารกระจ่ายน้ำ
อาคารกระจายน้ำ
 น้ำเสียที่เติมลงในบ่อจะทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียที่อยู่ในบ่อจนเกิดก๊าซ จากนั้นจึงนำก๊าซที่อยู่ในบ่อป้อนเข้าเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่เนื่องจากก๊าซที่ได้จากการหมักมีทั้งก๊าซพึ่งประสงค์เช่น มีเทน(CH4) และไม่พึงประสงค์ เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) จึงจะต้องทำการลดหรือดักก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ให้หมดไปหรือให้ลดลงได้มากที่สุดตามจำนวนที่อนุโลมได้ เนื่องจากว่าเมื่อก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ไปสัมผัสกับน้ำหรือไอน้ำจะเปลี่ยนสภาพเป็นกรดซัลฟิวริกซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ถ้าหลุดเข้าไปในเครื่องจะทำให้อายุการใช้งานของเครื่องสั้นลง วิธีการดักหรือกรองก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ใช้สครับเบอร์ (Scrubber) เป็นตัวดักกรอง
ถัง Scrubber (สีเขียว)

ก๊าซที่ได้จากการหมักในบ่อและผ่านการดักกรองโดยสครับเบอร์จะมีความชื่นมาก จึงต้องมีการลดความชื่นและลดอุณหภูมิของก๊าซด้วยชิลเลอร์ (Chiller) ก่อนที่ก๊าซจะเข้าชิลเลอร์อุณหภูมิของก๊าซจะอยู่ที่ 35 องศา หลังออกจากชิลเลอร์อุณหภูมิจะลดลงเหลือประม่ณ 16 องศา พร้อมด้วยน้ำที่ได้จากการดักความชื่น จากนั้นจะใช้ บลอเวอร์ (Blower) เพื่อดูดก๊าซและเพิ่มแรงดันให้ก๊าซเคลื่อนไปสะสมที่ถังพักก๊าซ (Buffer Tank) และก๊าซที่อยู่ในถังก็จะไหลเข้าสู่เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เป็นเชื้อเพลิงเพื่อทำการปันไดนาโมผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาปริมาณตามขนาดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ออกจากเครืองกำเนิดไฟฟ้าจะถูกส่งไปตู้ควบคุมไฟฟ้าต่างๆ GCP, MDB, MCC ในระดับแรงดัน 300 - 400 โวลต์ พลังงานไฟฟ้าบางส่วนจะถูกนำไปใช้ในส่วนต่างของแพลนต์(Plant)โดยรับไฟจากตู้ MCC จุดนี้ พลังงานไฟฟ้าที่เหลือก็จะถูกขายให้การไฟฟ้า ก่อนที่จะส่งขายไฟให้การไฟฟ้า ต้องเพิ่มแรงดันไฟฟ้าให้อยู่ในระดับเดียวกับระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คือ 33 กิโลโวลต์(33,000 โวลต์) โดยอัพแรงดันผ่านหม้อแปลงไฟฟ้า
แล้วส่งไฟผ่านสวิตช์เกียร์ 33 เควี และโหลดเบรคสวิตช์(SF6 Load Break Switch) แล้วส่งมอบไฟให้การไฟฟ้า เป็นอันจบสิ้นกระบวนการโรงไฟฟ้าพลังงานไบโอแก๊ส
Reference: 
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
กรมพลังงานทหาร

วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความท้าทายที่โรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส

                      หลังจากตัดสินใจออกจากหน้าที่ความรับผิดชอบในตำแหน่งวิศวกรภาคสนาม (Site Engineer)ของบริษัท วินิธร จำกัด เพื่อมาตามหาความรู้ทางศาสนาที่ปอเนาะ กำลังเรียนอย่างสนุกสนาน เนื้อหากำลังเข้มข้น ก็มีเพื่อนรุ่นพี่ที่เคารพนับถือคนหนึ่งแนะนำให้ไปสมัครงานที่ บริษัทปาล์มพัฒนาไบโอแก๊ส อันที่จริงก็รู้มาก่อนแล้วว่าที่บริษัทปาล์มพัฒนาไบโอแก๊สต้องการตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า แต่ไม่สนใจ ตั้งใจจะเรียนศาสนาให้เต็มที่เสียก่อน ชีวิตในตอนนั้นหลักๆคือเรียนเอาความรู้ศาสนา เรียนกีตาบ เรียนกุรอาน ส่วนงานรองอ่านหนังสือเตรียมสอบการไฟฟ้า โทอิค เป็นต้น ชีวิตก็ดำเนินอย่างนี้ไปเรื่อย แทบจะไม่มีเวลาว่างเพราะเอาเวลาว่างไปอ่านหนังสือสอบ เย็นๆก็มีเวลาเตะบอล งานไม่ทำแต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะอยู่ปอเนาะค่าใช้จ่ายน้อย เมื่อมีเพื่อนมาแนะนำให้ไปสมัครงานเป็นวิศวกรที่โรงงานใกล้ๆบ้าน แนวคิดใหม่ก็เริ่มเข้ามา ถ้าหากว่าทำงานควบคู่กับการเรียนมันเป็นอะไรที่หนักมาก อยากจะลองดูเหมือนกัน มันเป็นความท้าทาย ใจหนึ่งก็อยากเรียนศาสนาให้ได้ความรู้อย่างเต็มที่เสียก่อน แต่อีกใจหนึ่งก็อยากจะลองความท้าทายนั้นคือทำงานและเรียนศาสนาไปพร้อมกัน สุดท้ายเลือกความท้าทายเพื่อหาประสบการณ์เข้ามาในชีวิต นั้นก็หมายความว่าจะต้องเหนื่อยมากกว่าสองเท่า ก็รู้อยู่ว่าวันข้างหน้าต้องเจออะไรบ้าง เวลาพักผ่อน เวลาพบป่ะเพื่อนฝูง เวลาทำธุระส่วนตัว ทุกอย่างจะมีน้อยลง มีข้อดีอย่างเดียวคือมีเวลาทำเรื่องไร้สาระน้อยลง

ลักษณะบ่อหมักก่อนคลุมผ้าใบ

         30 พฤศจิกายน 2556 เป็นวันแรกที่ผมก้าวเท้าเข้ามาหาความท้าทายในบริษัทปาล์มพัฒนา ไบโอแก๊ส ตอนแรกผมเข้าใจว่าผมเข้ามารับตำแหน่งวิศวกรธรรมดาๆคนหนึ่งดูแลควบคุมระบบไฟฟ้าในโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม และคิดว่าลักษณะงานคงจะเป็นการดูแลควบคุมระบบไฟฟ้าทั้งโรงงาน อาจจะมีการซ่อมไฟตามจุดต่างๆกรณีที่เกิดปัญหา หรือการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ขัดข้อง เช่น ปั้มน้ำเป็นต้น ซึ่งคิดว่าพอที่จะรับภาระ ความกดดันในจุดนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องเป็นมากกว่านั่น ไม่ใช่เป็นวิศวกรโรงงาน แต่เป็นวิศวกรโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส และเป็นมากกว่าวิศวกรที่ต้องดูแลไฟฟ้าแรงต่ำ 230-400 โวลต์ และไฟฟ้าแรงสูง 33 กิโลโวลต์(33,000 โวลต์) นั้นคือ ต้องเป็นคนโอเปอเรต(Operate) ด้วย โอเปอเรต คือ อะไร? แล้วต้องทำอย่างไรบ้าง?ก็ยังไม่รู้เลย...พรุ่งนี้นี้เรามารู้จักคำว่า "โอเปอเรต" กัน
                   โอเปอร์เรต (Operate) คำว่า Operate ในภาษาอังกฤษแปลว่า ปฎิบัติ หรือปฎิบัติงาน หรือ ปฎิบัติการ หรือก่อให้เกิดผล นั้นคือความหมายของคำทางหลักภาษา แต่ความหมายทางตำแหน่งหน้าที่การงาน คือ ผู้ที่ปฎิบัติและควบคุมงานทั้งระบบ ถ้าจะเปรียบเทียบเพื่อให้มองเห็นภาพ หัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายปฎิบัติ คือ โอเปอร์เรต การโอเปอร์เรตโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส คือการนำน้ำเสียจากโรงงานมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพ จากน้ำเสียกว่าจะได้ออกมาเป็นก๊าซต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เช่น การลดอุณหภูมิน้ำเสียจากโรงงาน การควบคุมความเป็นกรด-ด่าง (pH) อุณหภูมิภายในบ่อ การเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย การทำความสะอาดก๊าซ การคัดแยกก๊าซเพื่อให้ได้ก๊าซมีเทน การลดความชื้นของก๊าซ การอัดความดันก๊าซ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดต้องปฎิบัติงานอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อไม่ให้ระบบล่ม ถ้าระบบล่มขึ้นมาก็ต้องนับศูนย์กันใหม่ กว่าระบบจะเสถียรและได้ก๊าซขึ้นมาใหม่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน ในเมื่อไม่มีก๊าซป้อนเข้าสู่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็ต้องหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า บริษัทก็จะขาดรายได้ ถ้าขาดรายได้เป็นเดือนก็จะขาดทุน อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นลำดับแรก การทำงานกับแก๊สมีความเสี่ยงมาก พร้อมที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อถ้าอยู่ในความประมาท หรือถ้าไม่ประมาทก็อาจเกิดได้เช่นกันเพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่นฟ้าผ่า อุปกรณ์ชำรุด เป็นต้น อุบัติเหตุแต่ละครั้งอาจถึงขั้นรุนแรงถึงรุนแรงมาก เพราะมีแก๊สมหาศาลที่พร้อมจะระเบิด รัศมีการระเบิดอาจกินพื้นที่เป็นร้อยๆเมตร นอกจากเรื่องไบโอแก๊สแล้วยังมีเรื่องระบบไฟฟ้าที่จะต้องดูแล ทั้งระบบไฟฟ้าแรงสูง และไฟฟ้าแรงต่ำ โดยเฉพาะไฟฟ้าแรงสูงที่ต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมมาควบคุม วันไหนมีการฟอลต์(ลัดวงจร)เกิดขึ้น วันนั้นผู้ดูแลควบคุมหัวหมุนแทบตาย ทั้งเรื่องการหาสาเหตุการฟอลต์ ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น อันเดอร์/โอเวอร์โวลเตจ (Under/Over Voltage) อันเดอร์/โอเวอร์เคอร์เรนท์ (Under/Over Current) อันเดอร์/โอเวอร์ฟรีเควนซี่ (Under/Over Frequency) ไดเรกชันนอลโอเวอร์เคอร์เรนท์ (Directional Over Current) ทรีเฟสฟอลต์ (Three phase fault) ซิงเกิ้ลไลน์ ทู กราวนด์ ฟอลต์ (Single line to ground fault) เป็นต้น การประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อซิงค์เข้าระบบ ส่วนงานที่รับเพิ่มมาล่าสุด คือ ต้องดูแลคนงานต่างชาติ(พม่า กัมพูชา) ลำพังดูแลชีวิตตัวเองก็ไม่รอด ต้องมานั้งท่องชื่อ หัดพูด เพื่อจ่ายงานให้พวกเขาทำ
                     ความท้าทายมันอยู่ตรงที่ขอบเขตงานที่กว้างและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง จะแบกรับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆได้หรือไม่ จะผ่านไปได้ไหม จะไหวสักกี่เดือน ทุกอย่างมันก็อยู่กับตัวเราคนเดียวที่จะจัดการตัวเองอย่างไร งานยากงานหนักเป็นเครื่องมือวัดคุณภาพคน ต่อไปคงได้นำทฤษฎีโจโฉนำออกมาใช้แล้วล่ะ
.
.
.
                เล่าถึงเรื่องส่วนตัวเยอะแล้ว บทความต่อไปจะเขียนเรื่อง โรงไฟฟ้าพลังงานไบโอแก๊ส เพื่อเป็นบทความต่อเนื่องจากบทความนี้

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

ปฐมบท



 photo DSC_8500.jpg


                  คงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าคนๆหนึ่งชอบหรือมีความสนใจในหลายๆเรื่อง เมื่อเราชอบเรื่องใดเราก็มักจะลงมือทำในเรื่องนั้น แต่บางครั้งเราไม่สามารถลงมือทำในสิ่งที่เราชอบได้ทั้งหมดหรือบางคนไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบเลย เพราะติดปัญหาบางอย่าง เช่น ไม่อยากเสียเงิน ไม่กล้าพอ ไม่มีเวลา ไม่พร้อม ฯลฯ  บางคนคิดว่าแค่ชอบไม่จำเป็นต้องลงมือทำ เรื่องบางเรื่องแค่อ่านแค่ติดตามมัน มันก็ทำให้เรามีความสุขแล้ว แต่เราอย่าคิดว่าแค่อ่านแค่ติดตามแล้วเราจะได้ประสบการณ์จากมัน อยากได้ประสบการณ์แต่ตัวเองไม่ยอมเสียอะไรเลยแล้วจะได้ประสบการณ์ไหม? ยอมเสียบางสิ่งในวันนี้เพื่อทำในสิ่งที่เราชอบ ดีกว่าต้องมานั้งเสียดายในวันหน้า ทั้งๆที่มีโอกาสแต่ไม่ยอมลงมือทำ

                  ผมเป็นคนจน ลูกชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง มีพี่น้องหลายคน พ่อแม่ไม่มีปัญญาส่งลูกเรียนปริญญา อย่าว่าแต่ปริญญาเลย แค่ ม.1 ก็เกือบจะไม่ได้เข้าเรียน ผมใช้เวลา มากกว่า 2 เดือนสะสมเงินครบ 30 บาท เพื่อไปซื้อใบสมัครเข้า ม.1 ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา-สามัญ แห่งหนึ่ง โชคดีเหลือเกินสะสมครบ 30 บาท ในวันสุดท้ายของการรับสมัครพอดี ชีวิตวัยเรียนมัธยมกินข้าวกับกือโป๊ะ(ข้าวเปล่า 3 บาท+ กือโป๊ะ 2 บาท) ไม่ได้งก แต่บางวันไม่มีจริงๆ นานๆครั้งจะได้กินเหมือนเพื่อน สมัยเรียนมีปัญหาเรื่องเงินเป็นบางครั้งแต่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องเรียน เรียนจนจบ ม.6 ก็คิดว่าไปไกลเกินฐานะ อยากเรียนปริญญาตรี อยากเป็นคนแรกของบ้านที่ได้ปริญญา อยากได้ปริญญามอบให้พ่อแม่เพื่อเป็นเกียรติอันสูงสุดของวงศ์ตระกูล เป็นคนจนแต่บังอาจคิดฝันอยากเรียนวิศวะ ฐานะไม่เกี่ยว แค่กล้าคิดกล้าทำแล้วความสำเร็จก็จะเป็นของเรา

                 อรัมภบทชีวิตมะพร้าวไปเยอะ เ้ข้าเรื่องเลยดีกว่า บล๊อกเกอร์นี้ สร้างขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555 จัดทำขึ้นมิได้มีวัตถุประสงค์อื่นใดนอกจากแบ่งปันความรู้ความคิดเห็นและความรู้สึกส่วนตัว ในส่วนของความรู้นั้น ผมคิดว่าคงจะมีประโยชน์ให้กับผู้อ่านในเรื่องที่ผู้อ่านกำลังศึกษาหาความรู้ไม่มากก็น้อย แม้เป็นความรู้ที่น้อยนิดแต่ขอเป็นส่วนเติมเต็มให้ผู้อ่านได้ความรู้อย่างสมบูรณ์ หรืออาจเป็นจุดประกายสะกิดใจให้ผู้อ่านได้ศึกษาเพิ่มเติมหลังจากได้อ่านบทความในบล๊อกนี้ ในส่วนของความคิดเห็นและความรู้สึกส่วนตัวนั้นล้วนเกิดจากความรู้สึกนึกคิดที่มาจากจิตใจที่แปรปรวนและสมองอันน้อยนิดของผม ซึ่งบางช่วงบางตอนอาจจะขัดแย้งทำให้ผู้อ่านไม่เห็นด้วยหรือกระทบกระทั้งจิตใจของผู้อ่าน ผมขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ อย่าได้ถือสาเอาโทษผมเลย เพราะเราทุกคนคือคนไทยที่รักชาติและตั้งใจจะพัฒนาประเทศเช่นเดียวกัน หากผู้อ่านพบข้อมูลที่ไม่เป็นจริง หรือสะกดคำผิด หรือมีข้อเสนอแนะ ขอความกรุณาจากท่านช่วยแจ้งให้ผมทราบด้วย ครับ แล้วผมจะรีบดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อย เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านที่มาอ่านภายหลัง